2021-03-24

สรุปไลฟ์การ Hearing อันเผ็ดมันส์ของ ก.ล.ต. และผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโตในไทย

By Natcha

ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับงานประชุมเสวนาออนไลน์ เกี่ยวกับ “การกำหนดคุณสมบัตินักลงทุนคริปโต” ที่ทาง ก.ล.ต.จัดขึ้นในวันนี้ โดยภายในงานอัดแน่นไปด้วยความคิดเห็นจากเหล่ากูรูคริปโตทั้ง 4 ท่านที่ประกอบไปด้วย คุณพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ Chaloke.com, ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณกวิน พงษ์พันธ์เดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบิททาซ่า จำกัด และคุณพีระพัฒน์ หาญคงแก้ว ผู้บริหารสูงสุดของ Blockchain Review

สำหรับงานประชุมเปิดรับฟังความเห็นที่จัดขึ้นในวันนี้ ทางก.ล.ต.ได้การมีกำหนดโจทย์พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของคริปโตเคอร์เรนซี่อยู่ 2 ประเด็นหลัก ๆ นั่นก็คือ 1. การกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ให้ต้องมีคุณสมบัติด้านฐานะการเงินและด้านความรู้ 2. การกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นมาแล้วเกือบ 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 64 และจะเปิดรับความความคิดเห็นต่อไปจนถึงวันที่ 27 มี.ค.นี้ เวลา 24.00 น. 

เปิดมุมมองส่วนตัวของเหล่ากูรูเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัตินักลงทุนคริปโต

โดยในช่วงแรกของการเสวนา คุณพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ Chaloke.com ได้กล่าวว่า เขารู้สึกไม่เห็นด้วยกับการกำหนดคุณสมบัติของนักลงทุนคริปโตตามโจทย์ทั้ง 2 ข้อของก.ล.ต. เนื่องจากเขามองว่า “ Bitcoin นั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นเงินของประชาชน” และต่อต้านการควบคุม ดังนั้นเขาจึงมองว่านักลงทุนคริปโตไม่ควรถูกจำกัดว่าพวกเขาต้องมีรายได้หรือมีความรู้เท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทางก.ล.ต.มีการจำกัดสิ่งเหล่านี้ นักลงทุนอาจหลบเลี่ยงหันไปใช้ทางช่องทางการลงทุนอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงมากกว่าแทน ซึ่งนั้นจะตรงข้ามกับสิ่งที่ทางก.ล.ต วางเป้าหมายไว้เพื่อปกป้องตัวของนักลงทุน

ส่วนทาง ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวนี้ว่า เขามองว่า การกำหนดคุณสมบัติของนักลงทุนคริปโตนั้นสอดคล้องการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดั้งเดิมที่อยู่ในปัจจุบัน โดยเขาสังเกตเห็นว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดั้งเดิมทั่วโลกก็ได้มีการกำหนดสถานะทางเงินกับนักลงทุนด้วยเช่นเดียวกัน รวมถึงการจำกัดในเรื่องของความรู้ แต่การที่เราจะมีกฏเกณฑ์อะไรซักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสถานะการเงินหรือความรู้ เราควรจะต้องชั่งน้ำหนักดูว่ามันยุติธรรมกับทั้งกับทุกฝ่ายแล้วหรือไม่ 

ทางด้านของคุณ พีระพัฒน์ หาญคงแก้ว ผู้บริหารสูงสุดของ Blockchain Review เขาไม่เห็นด้วยกับการกำหนดคุณสมบัติของนักลงทุนคริปโตในเรื่องของการเงิน แต่เขารู้สึกเห็นด้วยเกี่ยวกับประเด็นในการกำหนดสถานะความรู้ของนักลงทุนคริปโต เนื่องจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อนักลงทุนรายย่อย จะมีก็เพียงแค่ผลกระทบต่อตัวของนักลงทุนหน้าใหม่เท่านั้น โดยเขาได้กล่าวเปรียบเทียบว่านักลงทุนคริปโตที่อยู่ในตลาดมานานจะเข้าใจถึงความเสี่ยงของการทำธุรกรรมในคริปโตเคอร์เรนซี่ดีอยู่แล้ว หากมีข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น ต่างจากนักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่รับรู้ถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ดังนั้นในมุมมองส่วนตัว เขาคิดว่าการกำหนดแบบทดสอบความรู้ของนักลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างน้อยเพื่อช่วยให้นักลงทุนได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานการลงทุนของสินทรัพย์ประเภทนี้

และสุดท้าย คุณกวิน พงษ์พันธ์เดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบิททาซ่า จำกัด  เขามองว่าการจำกัดสถานะทางการเงินของนักลงทุนอยู่ที่ 1 ล้านบาทนั้น เขารู้สึกไม่เห็นด้วยและส่วนตัวเขาเชื่อนักลงทุนไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะก็สามารถมีความรู้ในเรื่องการลงทุนคริปโตตรงนี้ได้ ส่วนเรื่องของ knowledge test เขาเชื่อว่าการที่จะให้นักลงทุนทำแบบทดสอบ มันก็ยังคงไม่ได้ตอบโจทย์ 100% เพราะสิ่งนี้ไม่สามารถชี้วัดได้ว่า หลังนักลงทุนแบบทดสอบ พวกเขาจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการลงทุนจริงหรือไม่ อีกทั้งสิ่งนี้ยังจะเพิ่มกระบวนการยืนยันตัวตน KYC ให้ยุ่งยากขึ้นไปอีก ดังนั้นเขามองว่าเกณฑ์การทดสอบจึงอาจไม่ได้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือคุ้มครองพวกเขาได้อย่างแท้จริง  

นับตั้งแต่ที่ทางก.ล.ต. ได้เปิดรับความฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัตินักลงทุนคริปโต ในวันที่ 25 ก.พ.64 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้มีผู้ส่งความคิดเห็นเข้ามาทั้งหมด 6,819 รายและมีผู้แสดงความคิดเห็นบนสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ อีกกว่า 9,000 ความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ความคิดเห็นนั้นก็ดูเหมือนว่าจะชี้ไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วย อ้างอิงตามรายงานของทางก.ล.ต. 
อย่างไรก็ตาม หากใครต้องการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การกำหนดคุณสมบัตินักลงทุนคริปโต” สามารถเข้าไปแสดงความเห็นที่ลิงก์นี้ จนถึงวันที่ 27 มีนาคม